ฟิลเตอร์โพลาไรเซอร์ (CPL) จำเป็นแค่ใหนในยุคดิจิทัล

CPL

ฟิลเตอร์โพลาไรเซอร์ หรือ CPL ซึ่งย่อมาจาก Circular Polarizer ประกอบด้วยเลนส์ 2 ชิ้นซ้อนกัน เมื่อใช้งานให้ถอดฟิลเตอร์กันหน้าเลนส์ออกเสียก่อนแล้วจึงใส่ CPL ลงบนหน้าเลนส์ เวลาใช้ CPL ให้มองผ่านช่องมองภาพ (Viewfinder) หรือจอ LCD ของกล้อง แล้วหมุนฟิลเตอร์ CPL ให้แสงสะท้อนในภาพหายไป หรือหมุนฟิลเตอร์จนท้องฟ้าเข้มขึ้น และได้สีสันของภาพอิ่มตัวตามที่ต้องการ

ฟิลเตอร์โพลาไรเซอร์ มีข้อเสียคือจะทำให้แสงผ่านเลนส์น้อยลงไปประมาณ 1 1/2-2 stop จึงจะทำให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง หรือ ISO สูงขึ้นกว่าปกติ หากถ่ายภาพแนวนอนเมื่อหมุนฟิลเตอร์จนได้ผลลัพธ์ของภาพตามที่ต้องการแล้วเปลี่ยนมาถ่ายภาพแนวตั้ง (แม้จะถ่ายจากมุมเดิม) ผลลัพธ์ของภาพจะเปลี่ยนไปจึงจำเป็นต้องหมุนฟิลเตอร์ใหม่อีกครั้งจนได้ผลลัพธ์ของภาพตามที่ต้องการ ในฤดูหนาวหากมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงินสวยงามด้วยตาเปล่าแล้ว การใส่ CPL เพิ่มเข้าไปอาจทำให้ท้องฟ้าเข้มจนเกินธรรมชาติ

ในยุคดิจิทัลเราสามารถใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเช่น Lightroom ปรับสีสันของภาพให้อิ่มตัวตามที่ต้องการ Lightroom ยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่าง เช่น HSL ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนสีใดสีหนึ่งของภาพให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการโดยไม่กระทบกระเทือบกับสีอื่นๆ ใน Lightroom คุณยังสามารถใช้ HSL คู่กับ Graduated Filter หรือ Adjustment Brush เพื่อปรับแต่งพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนหนึ่งของภาพได้อย่างง่ายดาย

ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพครับ


no comments
Add a comment...

Your email is never published or shared. Required fields are marked *