ระยะอนันต์ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน และใช้ประโยชน์อย่างไร ?

เลนส์ของกล้องถ่ายภาพทุกตัวยกเว้นเลนส์ที่มีราคาย่อมเยาว์ จะมีสเกลบอกระยะโฟกัส (Distance scale) อยู่ที่กระบอกเลนส์ เพื่อช่วยให้ทราบว่าวัตถุที่เราโฟกัสอยู่ห่างจากเซ็นเซอร์รับภาพกี่เมตรหรือกี่ฟุต หากเราหมุนวงแหวนโฟกัส (Focusing ring) มาอีกด้านหนึ่งจนเกือบสุด จะเห็นสัญลักษณ์คล้ายเลข 8 ในแนวนอนเรียกว่า ระยะอนันต์ หรือ Infinity ซึ่งเป็นระยะที่วัตถุอยู่ไกลมากบางท่านก็เรียกว่า ระยะสุดสายตา

สเกลบอกระยะโฟกัสของเลนส์บริเวณใกล้ถึงระยะอนันต์ จะมีสัญญลักษณ์คล้ายรูปตัว L เรียกว่า เครื่องหมายชดเชยระยะอนันต์ (Infinity Compensation Mark) เพื่อบอกให้ทราบว่าระยะอนันต์ที่แท้จริงไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งที่เราหมุมวงแหวนโฟกัสไปจนสุดเสมอไป แต่อยู่บริเวณสัญลักษณ์ที่คล้ายรูปตัว L จนกระทั่งหมุนวงแหวนโฟกัสจนสุด เลนส์บางตัวไม่มีสัญลักษณ์คล้ายรูปตัว L แต่สามารถโฟกัสเลยเครื่องหมาย Infinity เพื่อให้หาระยะอนันต์ที่แท้จริง ณ ขณะนั้นได้ ตำแหน่งของระยะอนันต์เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมครับ เราสามารถหาระยะอนันต์ที่แท้จริงขณะนั้นได้โดยการให้กล้องโฟกัสวัตถุที่อยู่ไกลมากๆ เช่น ดวงจันทร์ เป็นต้น หรือมองผ่านช่องมองภาพแล้วใช้แมนนวลโฟกัสให้วัตถุที่อยู่ไกลมากๆชัดก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

เมื่อเข้าใจเรื่องระยะอนันต์ ก็สามารถนำไปประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ได้ ?

การถ่ายพระจันทร์หรือดวงดาว ควรให้กล้องโฟกัสพระจันทร์หรือดวงดาวครับ เพราะการถ่ายดาวโดยหมุมวงแหวนโฟกัสไปจนสุด อาจไม่ใด้ระยะโฟกัสของดาวที่แท้จริง แต่ในภาพนี้มีภูเขาหิมะซึ่งอยู่ไกลมาก ก็สามารถโฟกัสที่ภูเขาหิมะแทนดวงดาวได้เช่นกัน

การถ่ายภาพพลุด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ แม้ตำแหน่งของพลุจะอยู่ไกลมากก็ตาม ควรให้กล้องโฟกัสวัตถุที่อยู่บริเวณที่พลุจะถูกจุดขึ้นดีกว่า เพราะเลนส์เทเลโฟโต้จะให้ระยะชัด (Depth of field) ที่น้อยมาก(ชัดตื้น) หากโฟกัสไม่ดีภาพจะไม่ชัด และการหมุนวงแหวนโฟกัสไปจนสุด อาจไม่ใช่ระยะที่แท้จริงที่พลุจะถูกจุดขึ้นเสมอไป

 

no comments
Add a comment...

Your email is never published or shared. Required fields are marked *